สรุปสาระสำคัญในการปาฐกถาพิเศษ
การเสวนาวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Blue Economy : for Thailand Sustainable Development โดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ องค์ปาฐก
          หัวข้อ “Blue Economy : for Thailand Sustainable Development” มีเนื้อหาที่บรรยายถึงเหตุผลความจำเป็นของนโยบายและกรอบแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน “Blue Economy” ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญขององค์การสหประชาชาติ ที่ประสงค์จะให้สังคมระหว่างประเทศเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล ดังนั้น การตระหนักรู้ และการเร่งสร้างความร่วมมือของสังคมในทุกภาคส่วนในแต่ละประเทศ ตลอดจนขยายความร่วมมือถึงในระดับสังคมระหว่างประเทศ จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจสิน้ำเงินดังกล่าว

2. การเสวนาทางวิชาการโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
          2.1 วิทยากรจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                    รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ วิทยากรจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาวิชาการในหัวข้อ “Blue Economy สังคมไทยกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก บนสภาวะแวดล้อมโลกที่กำลังเสื่อมโทรมโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเล และแสดงให้เห็นความถดถอยของสิ่งมีชีวิตในทะเลในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อาหารหรือแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่กำลังจะสูญพันธุ์ โดยการสูญพันธุ์ดังกล่าวนี้เป็นผลจากภาวะโลกร้อนและเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน เช่น การลดลงของประชากรปลาวาฬที่มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน และการลดลงของประชากรปลาวาฬนั้นก็จะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโลกร้อนเนื่องจากปลาวาฬเป็นสัตว์ที่กักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติได้เป็นจำนวนมหาศาล
          2.2 วิทยากรจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
                    ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ วิทยากรจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสวนาวิชาการในหัวข้อ “ความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืนและยิ่งใหญ่” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่ง ผศ.ดร.ธรณ์ฯ กล่าวอธิบายถึงความสำคัญของ กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในทุกกิจกรรมทางทะเลว่า “กองทัพเรือไม่ใช่หน่วยงานด้านความมั่นคงเช่นเดียวกับ กองทัพบก และ กองทัพอากาศ เท่านั้น แต่บทบาทของ กองทัพเรือยังไปไกลถึงการส่งเสริมความมั่งคั่งของประเทศทางทะเลอีกด้วย” ซึ่ง กองทัพเรือควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ กองทัพเรือในบทบาทด้านส่งเสริมความมั่งคั่งของประเทศและของโลกด้วย
          2.3 วิทยากรจาก กองทัพเรือ
                    นาวาเอก ดรณ์ ทิพนันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ เสวนาวิชาการในหัวข้อ “Blue Economy Navy บทบาทใหม่ของกองทัพเรือในศตวรรษที่ 21” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทใหม่ของ กองทัพเรือ ในศตวรรษที่ 21 ที่ก้าวข้ามผ่านการให้ความสำคัญกับบทบาทการป้องกันประเทศเป็นหลัก สู่บทบาทใหม่ที่สมดุลกันระหว่าง 3 บทบาทหลักที่เป็นสากล คือ 1) บทบาทการป้องกันประเทศ 2) บทบาทในการรักษากฎหมายและช่วยเหลือในทะเล และ 3) บทบาททางการทูตระหว่างประเทศ ดังนั้น กองทัพเรือ ต้องร่วมมือกับ กองทัพเรือมิตรประเทศช่วยเหลือส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้กับสังคมระหว่างประเทศตามที่สหประชาชาติได้คาดหวังไว้
          2.4 วิทยากรจาก มหาวิทยาลัยมหิดล
                    ดร.บุญลือ คะเชนทร์ชาติ ผู้แทนจาก มหาวิทยาลัยมหิดล เสวนาวิชาการในหัวข้อ “การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและนำแผนที่ได้วางไว้มาสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การที่จะสำเร็จตามแผนดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคสังคมทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้กับสังคมไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน โดยจะต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐร่วมด้วยเช่นกันเพราะทะเลสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

3. ประเด็นสำคัญในการแบ่งกลุ่มสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ประกอบด้วย
          3.1 วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ : มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ตามหลักการและเหตุผลของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ความสำคัญของ กองทัพเรือต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และความสำคัญของกรมแพทย์ทหารเรือในการให้บริการทางการแพทย์การพยาบาลที่มีต่อเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
          3.2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงหลักการและเหตุผลของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่เกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมไปถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลและพันธุ์พืชทะเล โดยเน้นย้ำว่ามนุษย์มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อนที่จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
          3.3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ ลานีญา และสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เสื่อมโทรมก็เป็นปัจจัยที่เร่งให้สภาพภูมิอากาศของโลกร้อนยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนควรมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกัน
          3.4 มหาวิทยาลัยมหิดล : มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงผลการวิจัยเชิงคุณภาพของนักศึกษาที่ไปทำวิจัยในพื้นที่หมู่บ้านประมง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชายทะเลกับทะเล โดยแสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทะเล ดังนั้นการตระหนักเห็นถึงความสำคัญของทะเลจึงมีมากและก่อให้เกิดความร่วมมือกันของประชาชนในพื้นที่ที่จะดูแลและปกป้องทะเล แต่สำหรับประชาชนในส่วนอื่น ๆ ไม่ได้รับทราบถึงความสำคัญของทะเลเช่นเดียวกันกับคนกลุ่มนี้ จึงไม่เกิดความหวงแหนทรัพยากรดังกล่าว ดังนั้นการให้การศึกษาเพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทะเลจะก่อให้เกิดความร่วมมือกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างเป็นไปตามความสมัครใจไม่ต้องมีการใช้เครื่องมือหรือวิธีการพิเศษอื่นใดมาบังคับ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเศรษฐกิจสีน้ำเงินโดยแท้จริง